ฉายา ผู้ค้นพบเส้นทางเดินเรือสู่อินเดียตำแหน่งนักเดินเรือสำรวจชาวโปรตุเกส (Explorer)
สัญชาติโปรตุเกศ(Portugal)
บิดา เอสตาวิโอเดกามา (Estêvão da Gama)
มารดา อิซาเบล โซเด (Isabel Sodré)
เกิด เมื่อช่วงปี1460หรือ 1469
- ที่เมืองซีนิช แคว้นอาเลงเตชู ประเทศโปรตุเกส (Sines or Vidigueira - Alentej Portugal)
เสียชีวิต อายุ ประมาณ 55-65 ปี 23 ธันวาคม 1524
- เมืองโคชิน(Kochim, Portuguese India)
วัชกู ดา กามา วาสโก ดา กามา ตามการออกเสียงในภาษาอังกฤษ (Vasco da Gama) เป็นนักเดินเรือสำรวจชาวโปรตุเกส สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการค้บพบเส้นทางการเดินเรือจากยุโรปสู่อินเดีย โดย ได้รับมอบหมายจากกษัตริย์มานูเอล ที่ 1 แห่งโปรตุเกสให้ไปค้นหาอินเดียที่เชื่อกันในสมัยนั้นว่าเป็นแผ่นดิน คริสเตียนที่เล่าลือแพร่หลายเกี่ยวกับ เปรสเตอร์ จอห์น พระคริสเตียนแห่งอินเดียผู้ครอบครองนคร 100 แห่งในโลกตะวันออก
อ่านต่อ...
"ยูนิคอร์นม้ามังกรเขาเดียว เป็นสัตว์ใหญ่โตป่าเถื่อนที่สุด...
เรือสำเภาสามลำเรียงกัน มันเอาเขาชนทีเดียวเรือทะลุหมด !!!!!…..
กะลาสีเห็นสัตว์ผีทะเลตัวนี้ก็ตกใจขวัญหนีดีฝ่อ .....
เห็นทะเลเป็นทุ่งหญ้าก็กระโจนลงไปหมายเอาตัวรอด...
กลางมหาสมุทรยังมีสะดือทะเล เป็นวังวนดูดเรือแพจมไปหมด...!!!!!....
ถ้าไม่ใช่สะดือทะเล ก็เป็นกระทะใหญ่ น้ำร้อนเดือดพล่าน..!!!....
บนฟ้าก็มีไฟแลบลงมาเผาเรือแพเป็นจุลไปเหมือนกัน..!!!!....."
เรื่องอันน่ากลัวนี้ วัสโกดากามาได้ยินคนบอกกล่าวมาแล้ว แต่ วันหนึ่งเป็นวันที่ ๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๔๙๗ วัสโกดากามาพร้อมด้วยเรือสำเภา ๔ ลำ กะลาสี ๑๑๘ คนก็เตรียมพร้อมที่จะออกจากประเทศปอร์ตุเกส เพื่อหาทางเดินเรือไปประเทศอินเดียนายเรือผู้ใหญ่ยิ่งเต็มไปด้วยหนวดเคราผู้ นี้ เวลานั้นยังอยู่ในวัยฉกรรจ์อายุได้สามสิบปีพอดี ๆ รู้จักภัยอันตรายในมหาสมุทรเป็นอย่างดี รู้ว่าภัยอันเกิดจากธรรมชาตินั้นอาจร้ายแรงยิ่งกว่าเรื่องในนิยายปรัมปรา นั้นอีก
เมื่อวัสโกดากามา ยก “กองทัพเรือ” ของเขาแล่นไปตามฝั่งอัฟริกาตะวันตก ตรงไปทางทิศใต้นั้น เขารู้ว่าอันตรายที่แท้จริงของชีวิตกำลังรอเขาอยู่ที่แหลมกูดโฮป วาสโกดากามาแปลกใจว่าทำไมเขาจึงตั้งชื่อนี้ให้แก่แหลมที่อยู่สุดอัฟริกาใต้
สองสามอาทิตย์ก่อนที่ดากามาจะออกเดินทางนั้น พระเจ้ามานูแอล กษัตริย์แห่งปอร์ตุเกสมีพระราชบัญชาให้ดากามาหาทางเดินเรือไปประเทศอินเดีย คนทั้งสองได้พูดจากันถึงการอ้อมแหลมอัฟริกาใต้ว่ามีอันตรายมาก ไม่เคยมีเรือลำใดรอดไปได้ ดากามาได้เรียกชื่อแหลมตรงนั้นว่าแหลมพายุ พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงฟังดังนั้นก็ไม่พอพระทัย รับสั่งอย่างเย็นชาว่า “ฉันไม่อยากฟังชื่อเช่นนี้, อย่าพูดอีกเลย เราต้องปลุกใจกะลาสีให้กล้าหาญ ให้มีความหวัง ตั้งแต่นี้ต่อไปถ้าจะพูดกันถึงที่ตรงนี้ก็ให้เรียกว่าแหลมกูดโฮป” วัสโกดามากาก็คุกเข่าลงขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วกราบบังคมทูลว่า “ข้าพเจ้าจะอ้อมแหลม “สมหวัง” (กูดโฮป) ไปจนถึงประเทศอินเดียหรือยอมตาย”
ดากามาได้ออกเดินทางด้วยใจร้อนรน จะไปให้ถึงทิศใต้สุดของทวีปอัฟริกาให้เร็วที่สุด การเดินทางตั้งต้นจากแหลมแวร์แดไอแลนด์ แต่แทนที่จะเรียบฝั่งก็ตัดทางตรงไป ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคมถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ไม่ได้เห็นฝั่งเลย การอยู่กลางมหาสมุทรเช่นนี้ นานวันโรคขาดวิตามินก็เข้ามารุกราน ทำให้กะลาสีเจ็บป่วยเป็นโรคมือเท้าบวม เหงือกบวม จนกะลาสีโดยมากกินไม่ได้ เดินไม่ได้ และคนที่ป่วยก็ล้มตายกันไปหลายคน แต่คนที่ยังไม่ตายก็เดินทางต่อไปด้วยน้ำใจอดทน
เมื่อ ไปถึงน่านน้ำของแหลมปลายสุดอัฟริกาใต้นั้น ท้องฟ้าเป็นสีดำมืด และทันใดภูเขาคลื่นก็กลิ้งเข้าทุ่มเรือและประดังเข้ามาซ้อน ๆ กัน จนเรือไม่สามารถจะกระโจนคลื่นได้ ภูเขาคลื่นซัดใบเรือปลิวไปหมด กะลาสียืนไม่ติด ต้องเอาเชือกล่ามตัวตัวกับหลัก แต่หลักก็ปลิวไปด้วย
ดากามาผู้เป็นนายเรือก็เสียทาง บังคับเรือไม่ได้ แต่ก็ยังมีจิตใจไม่ลืมคำสัญญาที่ว่าไว้ “ชนะหรือตาย” เมื่อต้นหนและลูกเรือขอร้องให้กลับบ้าน ดากามาก็ร้องว่า “ทะเลมันอิจฉาเรา ชื่อเสียงคอยเราอยู่ข้างหน้า มันกลัวเราจะไปถึง เราต้องไปให้ได้” ถึงลมพายุจะพัดให้เรือถอยหลัง “กองทัพเรือ” ของดากามาก็พยายามตั้งหัวตรงทิศทางอยู่เรื่อยไป ทะเลก็ทุ่มเรือแล้วทุ่มอีกจนลูกประสักหลุด เรือรั่ว เสบียงอาหารร่อยหรอ วันแล้วคืนเล่าท้องฟ้ายังคงดำมืด พายุพัดดังอื้ออึง แสดงอาการว่ามันมีชัยแล้ว
วัสโกดากามาเอาชีวิตของตัวเป็นเดิมพัน และขณะที่กล่าวนี้เขาก็ยังไม่ตาย เขาจะต้องต่อสู้กับมันอีก เขาตั้งหัวเรือให้เที่ยงตรงอยู่เสมอ และพายุก็ไม่ผ่อนแรงเลย มันพัดมาสุดกำลังเรื่อยไป ทำให้เรือกระท้านอยู่ตลอดเวลา ขณะนั้นรัศมีของดวงอาทิตย์พุ่งรอดเมฆดำลงมาช่องหนึ่ง แล้วพายุก็บรรเทา ทะเลค่อย ๆ ลดความดุเดือด ภายในไม่ช้า “แหลมพายุ” ก็กลายเป็นแหลม “สมหวัง” กูดโฮปอย่างแท้จริง ดากามาและกะลาสีของเขามีชัยชนะเหมือนอัศจรรย์ ขณะนี้เขาแล่นอยู่ในน่านน้ำซึ่งไม่เคยมีเรือยุโรปได้ผ่านมาเลย เขาแล่นต่อไป ตรงไปยังประเทศอินเดีย ได้ผ่านเกาะโมซัมบิก, มอมบาซา, มาลินดี ไปถึงกัลกัตตาประเทศอินเดียวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๔๙๘
วันนั้นจึงเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ คือ วันแรกที่ตะวันออกกับตะวันตกมาพบกันทางทะเล สายการเดินสินค้าทางเรือก็เปิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา ที่ประเทศอินเดีย วัสโกดากามาไม่ได้รับการต้อนรับอันดี ผู้ปกครองเมืองกัลกัตตาบอกแก่วัสโกดากามาว่า “ท่านมาที่นี่ทำไม? จงไปนรกเถิด” แต่วัสโกดากามาก็ไม่ยอมให้เวลาที่ยังอยู่เสียไปเหมือนที่ได้เสียไปแล้วเป็น อันมากนั้นอีก เขาซื้อสินค้าต่าง ๆ ลงบรรทุกเรือ เป็นต้น เครื่องประดับเพชรพลอย เครื่องเทศ เครื่องยา...และแล่นเรือกลับไปถึงกรุงลิสบอนวันที่ ๑๘ กันยายน ค.ศ. ๑๔๙๙ วัส โกดากามาผู้ไปหาความตายหรือไปหาชื่อเสียง เมื่อเขาไม่ตาย เขาก็ได้ชื่อเสียง และได้ชื่อเสียงอย่างมากมาย ชื่อเสียงของเขาราคาแพงมาก กล่าวคือ คนที่ไปกับเขาเป็นเวลาสองปีนั้น ขากลับมาเหลือจำนวนครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งได้แต่ชื่อ ชีวิตหาไม่
........................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น